ประวัติและความเป็นมาของวิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ

วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการเปิดการเรียนการสอน ในหลักสูตรระดับปริญญาตรีตามหลักการและโครงสร้างในระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษายุคปัจจุบัน โดยมีปณิธานที่แน่วแน่ในอันที่จะสร้างสถาบันการศึกษาแห่งนี้ให้เป็นสถานศึกษาทางพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงโดยอนุวัฒน์ตาม ปรัชญาของพระมงคลวุฒ (หลวงปู่เครื่อง สุภทฺโท) ผู้ก่อตั้งสถาบันแห่งนี้ ซึ่งได้ให้ไว้ว่า โรงเรียนคือโรงหล่อโรงหลอมมนุษย์” เพื่อสร้างบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจในพระสัทธรรมอย่างแท้จริง และเพื่อขยายโอกาสแก่ผู้ที่สนใจปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของ พระพุทธองค์ อันจะเป็นปัจจัยสำคัญ ในการรักษาพระพุทธศาสนาสืบไป

โดยในช่วงระยะเริ่มแรกนั้น หลวงปู่เครื่อง สุภทฺโท (๒๕๔๓ – ปัจจุบัน) ได้มอบหมายให้คณะทำงานได้ดำเนินการเพื่อที่จะขอเปิดสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาในขณะนั้น โดยท่านรับอาสาจะเป็นผู้ให้ความอุปถัมภ์ทั้งหมด กอปรกับคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ โดยมี เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษในขณะนั้น พระราชวรรณเวที (วิบูลย์ กลฺยาโณ) และฝ่ายบ้านเมือง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ (นายสุจริต นันทมนตรี) ได้จัดประชุมคณะสงฆ์และส่วนราชการทุกส่วน ตลอดจนพ่อค้าประชาชนขึ้น เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ณ ห้องประชุมใหญ่โรงเรียนวัดสระกำแพงใหญ่ เพื่อขอความร่วมมือและการให้ความอุปถัมภ์สนับสนุน มติที่ประชุมให้ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ โดยที่สภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้อนุมัติให้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕    จึงได้ดำเนินการเปิดสอนในสาขาวิชาพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นต้นมา โดยในระยะเริ่มต้นใช้อาคารสถานที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดสระกำแพงใหญ่ เป็นสถานที่ดำเนินการ

เพื่อให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์และปณิธานของหลวงปู่เครื่อง สุภทฺโท คณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษและฝ่ายบ้านเมือง จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมการกุศลต่างๆ เพื่อรวบรวมทุนทรัพย์สมทบกับมูลนิธิหลวงปู่เครื่อง  สุภทฺโท ติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง และในขณะเดียวกันก็ได้จัดหาและดำเนินการซื้อที่ดิน เพื่อสร้างอาคารเรียนตาม โครงการฯ จำนวน ๑๐ ไร่ ๕๑ ตารางวา เป็นจำนวนเงิน ๑,๖๕๔,๐๐๐.๐๐ บาท (หนึ่งล้านหกแสนห้าหมื่นสี่พันบาทถ้วน) ซึ่งขณะนั้น (พ.ศ. ๒๕๔๗) ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียน ค.ส.ล. ขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๕๖ เมตร สูง ๓ ชั้น จำนวน ๑๘ ห้องเรียน งบประมาณในการก่อสร้าง ๑๘,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท (สิบแปดล้านบาทถ้วน) ซึ่งทำการเปิดดำเนินการเรียนการสอนนั้น ได้รับนิสิตเข้าเรียนในคณะพุทธศาสตร์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา และคณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาการปกครอง และสาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ เป็นปีที่ ๑ โดยมีพุทธศาสตรบัณฑิตรุ่นที่หนึ่งของห้องเรียนจังหวัดศรีสะเกษ และเป็นรุ่น ที่ ๕๒ ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จำนวน ๔๑ รูป และได้เข้ารับพิธีประสาทปริญญาเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐

เนื่องจากสถานที่ของวัดสระกำแพงใหญ่ มีพื้นที่จำกัดในการพัฒนาเพื่อที่จะยกระดับมหาวิทยาลัยให้เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา เพื่อให้พื้นที่นั้นสามารถเป็นศูนย์กลางของคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ และศูนย์กลางทางการศึกษาในระดับจังหวัดได้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด พระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ) เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษในขณะนั้น พร้อมด้วยคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ ได้มองเห็นถึงความสำคัญในจุดตรงนี้ จึงได้ปรึกษากับพระศรีธรรมนาถมุนี (ธีรังกูร ธีรงฺกุโร ป.ธ. ๙) ปัจจุบัน พระราชธรรมสารสุธี ในฐานะรองเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ที่รับผิดชอบเรื่องการศึกษาและดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการห้องเรียนฯด้วย ในท้ายที่สุดก็ได้ระดมความคิดของบุคลากรหลายๆ ส่วนมาคิดร่วมกันจึงได้ปรึกษาหารือกับเทศบาลตำบลน้ำคำ ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำคำ โดยการประสานงานของพระครูปริยัติวีราภรณ์ (ธีรศักดิ์ ญาณวีโร) เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลน้ำคำ ได้ประสานงานเพื่อหาสถานที่ที่จะดำเนินการจัดสร้างศูนย์กลางการศึกษาของคณะสงฆ์ จังหวัดศรีสะเกษ

ในการหาพื้นที่เพื่อใช้ในการดำเนินการดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่าจะขอใช้พื้นที่ป่าโนนทรายน้อย บ้านง้อ ตำบลน้ำคำ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๒๓๑ ไร่ ซึ่งต่อมาได้ผ่านการประชาคมในระดับท้องที่   เป็นที่เรียบร้อย และห้องเรียนได้ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของนิสิตห้องเรียนจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นมา ต่อมาคณะผู้บริหารโครงการขยายห้องเรียนวิทยาเขตอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ อันมีพระราชกิตติรังษี (บุญทัน สนฺตจิตฺโต) เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานอำนวยการ พระราชธรรมสารสุธี (ธีรังกูร ธีรงฺกุโร ป.ธ. ๙) รองเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ในฐานะผู้อำนวยการห้องเรียนฯ เป็นประธานดำเนินการ ได้กำหนดยุทธศาสตร์และวางแผนในการพัฒนาห้องเรียนและสถานที่ป่าโนนทรายน้อยไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งในระยะเวลา ๕ ปี มีผลปรากฏดังที่เห็นได้ในปัจจุบันโดยได้รับความเมตตานุเคราะห์จากพระมหาเถระพระเถรานุเถระหลายรูป เช่น เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ. ๙) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปญฺโญ ป.ธ. ๙) คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ ป.ธ. ๘) อดีตเจ้าคณะภาค ๑๐ พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) เจ้าคณะภาค ๑๐ พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ. ๙) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระเทพวิสุทธิโมลี (พรหมา สปฺปญฺโญ ป.ธ. ๙) พระราชวชิรโมลี (โสรัจจ์ มหาโสรจฺโจ ป.ธ. ๙) รองเจ้าคณะภาค ๑๐ ทั้ง ๒ รูป พระอุดมปัญญาภรณ์ (สัณหวัตร สณฺหวฑฺฒโน ป.ธ. ๖) รองเจ้าคณะจังหวัดยโสธร ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ นายเสนีย์ จิตตเกษม (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พ.ศ. ๒๕๕๐ – ๒๕๕๒)   นายระพี ผ่องบุพกิจ (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๓) นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พ.ศ. ๒๕๕๓ – ๒๕๕๔) นายประทีป กีรติเรขา (ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พ.ศ. ๒๕๕๔ – ๒๕๕๘) นายชยพล พงษ์สีดา (อดีต ผอ.พศจ.ศรีสะเกษ) นายคุณัญพงษ์ ทหารไทย (อดีต ผอ.พศจ.ศรีสะเกษ) นายวิรอด ไชยพรรณนา (อดีต ผอ.พศจ.ศรีสะเกษ) ข้าราชการทุกหมู่เหล่าและประชาชนทุกหมู่บ้านในจังหวัดศรีสะเกษ สำคัญอย่างยิ่งคือได้รับความร่วมมือและการเสียสละอย่างยิ่งใหญ่จาก คณะกรรมการบริหารโครงการ คณะที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารโครงการทุกรูป/คน คณะผู้บริหาร คณะที่ปรึกษาผู้อำนวยการห้องเรียน คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ทุกรูป/คน ซึ่งผลจากการที่ท่านทั้งหลายได้เสียสละร่วมกันเป็นแรงผลักดันให้โครงการจัดตั้งวิทยาลัยสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ปัจจุบัน ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ (พ.ศ. ๒๕๕๖) มีที่ตั้งอยู่ เลขที่ ๖๗ หมู่ที่ ๒ ตำบลน้ำคำ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ โดยสรุปมีพัฒนาการตามลำดับดังนี้

พ.ศ. ๒๕๔๕ หลวงปู่เครื่อง  สุภทฺโท (สมณศักดิ์สุดท้าย พระมงคลวุฒ)   พร้อมด้วยพระเทพวรมุนี (พระราชวรรณเวที สมณศักดิ์ขณะนั้น) เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ได้ดำเนินการขอขยายห้องเรียนมายังวัดสระกำแพงใหญ่   อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เปิดดำเนินการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มีนิสิตรุ่นแรก จำนวน ๕๖ รูป

พ.ศ. ๒๕๕๑ ในคราวประชุมสภาครั้งที่ ๑ /๒๕๕๒ ได้มีมติอนุมัติเรื่อง ขออนุมัติเปิดหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ (สำหรับพระภิกษุ – สามเณร) และ หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาการจัดการเชิงพุทธ

พ.ศ. ๒๕๕๕ สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในคราวประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๕๕ ได้มีมติให้ย้ายสถานที่ตั้งห้องเรียนมายัง ที่ดินสาธารณประโยชน์ ป่าโนนทรายน้อย ตำบลน้ำคำ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ และในคราวประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๕๕ มีมติอนุมัติให้เปิดรับคฤหัสถ์เข้าศึกษาในหลักสูตรรัฐศาสตร์

พ.ศ. ๒๕๕๖ สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในคราวประชุมเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ ให้มีมติยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยสงฆ์ โดยนายกสภามหาวิทยาลัยได้มีลงนามเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ และประกาศในราชกิจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

                                                       ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ

ปณิธาน
                   เป็นสถาบันการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับ พระสังฆาธิการ พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ในระดับภูมิภาคปรัชญา
          ส่งเสริมพระพุทธศาสนา พัฒนาการศึกษาสงฆ์ ธำรงวัฒนธรรมท้องถิ่น
วิสัยทัศน์
วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาระดับภูมิภาค โดยจัดการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ นำไปสู่การพัฒนาจิตใจและสังคมอย่างยั่งยืน

 พันธกิจ
                     มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ มุ่งปฏิบัติพันธกิจสำคัญ ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล โดยจัดการเรียนการสอนในลักษณะของการนำความรู้ด้านพระพุทธศาสนาบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ ให้เกิดเป็นองค์ความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาจิตใจและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งมีสาระสำคัญ ๓ ด้าน ดังนี้
                   ๑) มุ่งเน้นการสร้างบัณฑิตและบุคลากรที่ผ่านการศึกษาอบรมให้เป็นผู้มีคุณธรรมนำความรู้ มีความสามารถและทักษะในการแก้ปัญหา มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาและพัฒนาสังคม
๒) มุ่งเสริมสร้างการศึกษา ค้นคว้าวิจัยให้ก้าวไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนา เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนามนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและสันติสุข
๓) มุ่งเน้นการให้บริการทางวิชาการในรูปแบบที่หลากหลาย มีการบริหารเพื่อพัฒนาพระพุทธศาสนา   พัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน มีความมุ่งมั่นในการให้การบริการวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนาแก่คณะสงฆ์และสังคม รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ และความร่วมมืออันดีระหว่างพุทธศาสนิกชนในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค

เอกลักษณ์วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ
บริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนาและสนองงานการคณะสงฆ์

อัตลักษณ์วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ
สืบสานงานพระศาสนา นำพาพัฒนาจิต อุทิศตนเพื่อสังคม

อัตลักษณ์บัณฑิต
มีศรัทธาและตั้งมั่นต่อพระพุทธศาสนา