ประวัติการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ

ประวัติการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ
วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

————————————–

 ที่ตั้งอาคาร

          วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งอยู่เลขที่ ๖๗  หมู่ที่ ๒ บ้านง้อ  ตำบลน้ำคำ  อำเภอเมืองศรีสะเกษ  จังหวัดศรีสะเกษ   รหัสไปรษณีย์ ๓๓๐๐๐

โทรศัพท์ ๐-๔๕๖๑-๗๙๐๓,  ๐-๔๕๖๑-๗๙๐๕      โทรสาร  ๐-๔๕๖๑-๗๙๐๖

 

 ประวัติและความเป็นมา

อาคารเฉลิมพระเกียรติ  สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง ๓ ชั้น กว้าง ๒๙.๕๐ เมตร  ยาว ๗๒  เมตร งบประมาณก่อสร้าง ๖๐ ล้านบาท มีประวัติความเป็นมาดังนี้

วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้รับการจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ.๒๕๔๕ โดยมีสถานะเป็นห้องเรียนของวิทยาเขตอุบลราชธานี  มีสำนักงานตั้งอยู่  ณ วัดสระกำแพงใหญ่  อำเภออุทุมพรพิสัย  จังหวัดศรีสะเกษ  ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๕๑ เทศบาลตำบลน้ำคำ อำเภอเมืองศรีสะเกษ ได้มอบที่ดินโฉนดเลขที่ ศก ๑๐๒๗ ซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ ให้แก่คณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อจัดตั้งวิทยาลัยสงฆ์และอนุพุทธมณฑล คณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ ได้ก่อสร้างอาคารเรียนชั้นเดียว ขนาดกว้าง ๙ เมตร  ยาว ๙๐ เมตร  เพื่อใช้เป็นอาคาเรียน และขอประทานนามเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  (เกี่ยว  อุปเสโณ ป.ธ.๙) วัดสระเกศ เป็นชื่ออาคาร  โดยประกอบพิธีมอบและเปิดป้ายอาคาร เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔  โดย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง  วรปุญฺโญ ป.ธ.๙) วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นประธานในพิธี

นอกจากประกอบพิธีมอบและเปิดป้ายอาคาร “สมเด็จพระพุฒาจารย์” ดังกล่าวแล้ว วิทยาลัยสงฆ์  ศรีสะเกษ  มีแผนงานในการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ  จึงได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคาร ในวันดังกล่าวด้วย โดยได้รับเมตตาจาก สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง  วรปุญฺโญ ป.ธ.๙) วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นประธานในพิธี

ต่อมา พ.ศ. ๒๕๕๕ สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในคราวประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๕๕ ได้มีมติให้ย้ายสถานที่ตั้งห้องเรียนจากวัดสระกำแพงใหญ่ ไปยัง ที่ดินสาธารณประโยชน์ ป่าโนนทรายน้อย ตำบลน้ำคำ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ และ พ.ศ. ๒๕๕๖ สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในคราวประชุมเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๖ ให้มีมติยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยสงฆ์ โดยนายกสภามหาวิทยาลัยได้ลงนามเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ และประกาศในราชกิจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖

เมื่อได้รับอนุมัติการจัดตั้งวิทยาลัยสงฆ์แล้ว วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ โดยการนำของพระราชธรรมสารสุธี ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ ได้นำโครงการการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ปรึกษากับนายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษในขณะนั้น ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้นำโครงการเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อของบประมาณในการก่อสร้างจากกลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนา กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง กลุ่มที่ ๒ ประกอบไปด้วย จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างระยะแรก เป็นจำนวนเงิน ๔๐ ล้านบาท และได้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๖

เมื่อดำเนินการก่อสร้างในระยะแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว นายยุทธนา วิริยะกิตติ ผู้ว่าราชการจังหวัด   ศรีสะเกษในขณะนั้น  ได้นำโครงการเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อของบประมาณในการก่อสร้างจากกลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนา กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง กลุ่มที่ ๒ ในระยะที่ ๒ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างอีก เป็นจำนวนเงิน ๒๐ ล้านบาท และได้ดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมและตกแต่งภายใน จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

 

การพระราชทานนามอาคาร

ในการดำเนินการก่อสร้างอาคารนั้น วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘  จึงได้มีหนังสือขอพระราชทานนามอาคาร และขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ ๕ รอบ    ๒ เมษายน ๒๕๕๘ ประดับที่ป้ายอาคาร

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาพระราชทานนามอาคารว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ” และพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ ประดับที่ป้ายอาคาร นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น เป็นสิริมงคลแก่วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษและประชาชนชาวจังหวัดศรีสะเกษอย่างหาที่สุดมิได้

 

ความหมายของอาคาร

          ๑. ความหมายของอาคาร  อาคารเฉลิมพระเกียรติ เป็นอาคารที่สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ๒ เมษายน ๒๕๕๘

๒. ความหมายของชั้นอาคาร

๒.๑ ชั้นที่ ๑  “ชั้นยุคขอม” ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ในภูมิภาค ตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมขอมหรือเขมรโบราณ  ซึ่งได้จัดทำประวัติศาสตร์ในยุคดังกล่าวมาจัดแสดง

๒.๒ ชั้นที่ ๒  “ชั้นยุคศรีนครลำดวน”  ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยกรุงธนบุรี มีประวัติในการสร้างเมืองในช่วงนั้น  ซึ่งได้จัดทำประวัติศาสตร์ในยุคดังกล่าวมาจัดแสดง

๒.๓ ชั้นที่ ๓  “ชั้นยุคศรีสะเกษ” ซึ่งเป็นยุคการตั้งเมืองศรีสะเกษ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้จัดทำประวัติศาสตร์ในยุคดังกล่าวมาจัดแสดง

 

พระราชธรรมสารสุธี
ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ

13256463_1322263631123646_5070686488052293294_n 13265912_1322263591123650_426355546661275011_n 13233145_1322263677790308_8452185769423059333_n 13233084_1322263607790315_9158418554788605992_n 13230258_1322263657790310_8888599908852202966_n 13221530_1322263561123653_7572527066511784431_n

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *