ประวัติมหาวิทยาลัย

พระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ)

พระมงคลวุฒ (หลวงปู่เครื่อง สุภทฺโท)

         มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคณะสงฆ์ไทยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงสถาปนาขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ ตั้งอยู่ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และโปรดให้เรียกว่า “มหาธาตุวิทยาลัย” เปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๒ และเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๙ ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้ใช้เป็นสถานศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาการชั้นสูงสำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์

            ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๐ พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทัตตมหาเถระ) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ได้จัดประชุมพระเถรานุเถระฝ่ายมหานิกาย จำนวน ๕๗ รูป เพื่อดำเนินการจัดการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาการชั้นสูงระดับอุดมศึกษาตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเปิดสอนระดับปริญญาตรี ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ และดำเนินการจัดการศึกษามาโดยลำดับ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๗ รัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติรับรองวิทยฐานะหลักสูตรปริญญาตรีของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีผลทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญา เช่นเดียวกับผู้สำเร็จการศึกษาในระดับเดียวกันจากสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ที่รัฐให้การรับรอง

            ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ รัฐบาลโดยการนำของ ฯพณฯ พล.อ ชวลิต ยงใจยุทธ ได้เสนอให้รัฐสภาตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ส่งผลให้มหาวิทยาลัย มีพระราชบัญญัติรับรองสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ในกำกับของรัฐบาล และเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ เน้นจัดการศึกษาวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

            จังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ มีขนาดพื้นที่ ๗,๗๕๘.๔๗๐ ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น ๒๒ อำเภอ ๒๐๖ ตำบล ๒,๖๒๖ หมู่บ้าน ๒๐๙ ชุมชน ๒๕ เทศบาล ๑๙๑ อบต. มีประชากรทั้งสิ้น ๑,๔๔๖,๓๔๕ คน แยกเป็นชาย ๗๒๒,๗๙๗ คน หญิง ๗๒๓,๕๔๘ คน (ข้อมูลจังหวัดศรีสะเกษ ปี ๒๕๕๒) จำนวนวัดและที่พักสงฆ์ ๑,๔๔๖ แห่ง จำนวนภิกษุ ๗,๕๕๐ รูป สามเณร ๑,๕๔๙ รูป โรงเรียนพระปริยัติธรรม จำนวน ๑๐ แห่ง จำนวนภิกษุสามเณรที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั้งสิ้น ๑,๕๖๕ รูป แยกเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ๑,๑๕๙ รูป ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ๔๑๖ รูป

            พระมงคลวุฒ (หลวงปู่เครื่อง สุภทฺโท) เจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่ ท่านได้มองเห็นความสำคัญต่อการศึกษาของพระภิกษุสามเณร จึงได้จัดให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี นักธรรมและศึกษาผู้ใหญ่ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๙ เป็นต้นมา และเล็งเห็นความจำเป็นที่จะให้มีสถานที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา สำหรับพระภิกษุสามเณรของจังหวัดศรีสะเกษและสถานที่ใกล้เคียง จึงมีปณิธานที่จะขอขยายห้องเรียนของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี มาที่วัดสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ โดยจะรับเป็นผู้ให้ความอุปถัมภ์ในระยะเริ่มดำเนินการ กอปรกับคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ (พระราชวรรณเวที) เป็นประธานในที่ประชุมคณะสงฆ์ และผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ (นายสุจริต นันทมนตรี) ได้เล็งเห็นว่าพระภิกษุสามเณรที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำต้องเดินทางไปศึกษาต่อยังท้องที่ต่างถิ่น ทั้งในส่วนกลาง คือ กรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค เช่น วิทยาเขตอุบลราชธานี วิทยาเขตสุรินทร์ เป็นต้น ในลักษณะไปอยู่ประจำและเดินทางไปกลับ เป็นการสิ้นเปลืองเรื่องค่าใช้จ่าย และต้องได้รับความลำบากในการเดินทาง เป็นต้น ได้ร่วมประชุมใหญ่ครั้งที่ ๑/๒๕๔๔ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ณ ห้องประชุมใหญ่โรงเรียนวัดสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการขอขยายห้องเรียนระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี มาที่วัดสระกำแพงใหญ่ เปิดสอนในสาขาวิชาพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นต้นมา ในระยะเริ่มต้นได้ใช้อาคารสถานที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดสระกำแพงใหญ่ เป็นสถานที่จัดการศึกษาชั่วคราว ในการนี้สภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้อนุมัติ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๕

            หลังจากที่ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาแล้วเพื่อให้สำเร็จวัตถุประสงค์ดังกล่าวคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษและฝ่ายบ้านเมือง ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมการกุศลต่าง ๆ เพื่อรวบรวมทุนทรัพย์สมทบกับมูลนิธิหลวงปู่เครื่อง สุภัทโท ติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง มียอดรายรับ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และในขณะเดียวกันได้จัดหาและดำเนินการซื้อที่ดินเพื่อสร้างอาคารเรียน ตามโครงการขยายห้องเรียน คณะพุทธศาสตร์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนวิทยาเขตอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๑๐ ไร่ ๕๑ ตารางวา เป็นจำนวนเงิน ๑,๖๕๔,๐๐๐ บาท แล้วได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียน ค.ส.ล. ขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๕๖ เมตร สูง ๓ ชั้น จำนวน ๑๘ ห้องเรียน โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้าง ๑๘ ล้านบาท

            แต่เนื่องจากสถานที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องเรียนจังหวัดศรีสะเกษที่อยู่ที่วัดสระกำแพงใหญ่มีพื้นที่จำกัดในการพัฒนา เพื่อที่จะยกระดับมหาวิทยาลัยให้เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา พร้อมทั้งยังสามารถเป็นศูนย์กลางของคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษได้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการมากที่สุด พระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ ป.ธ.๓) เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษในขณะนั้นพร้อมด้วยคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษได้มองเห็นถึงความสำคัญในจุดตรงนี้ จึงได้ปรึกษากับพระราชธรรมสารสุธี (ธีรังกูร ธีรงฺกุโร ป.ธ.๙) ในฐานะรองเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษที่รับผิดชอบเรื่องการศึกษาของคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการห้องเรียนฯด้วย ในท้ายที่สุดก็ได้ระดมมันสมองบุคลากรหลาย ๆ ส่วนมาคิดรวมกัน พร้อมกับได้ปรึกษาหารือกับเทศบาลตำบลน้ำคำ ซึ่งในขณะนั้นยังมีสถานภาพเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำคำ โดยการประสานงานของพระครูปริยัติวีราภรณ์ เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ประสานงานเพื่อหาสถานที่ที่จะดำเนินการจัดสร้างศูนย์กลางการศึกษาของคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ ในที่สุดก็ได้ขอใช้พื้นที่ป่าโนนทรายน้อย บ้านง้อ หมู่ที่ ๒ ตำบลน้ำคำ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๒๓๑ ไร่ ๑ งาน ๕๖ ตารางวา ได้ผ่านการประชาคมในระดับท้องที่เรียบร้อย และได้ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้องเรียนจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นมา ในปัจจุบันห้องเรียนจังหวัดศรีสะเกษ ได้เปิดดำเนินการเรียนการสอนมาแล้วเป็นรุ่นที่ ๑๑ แล้ว ในปีการศึกษา ๒๕๕๕ มีนิสิตรวมจำนวนทุกชั้นปี ๒๘๐ รูป/คน มีศิษย์เก่าที่ได้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีทั้งหมดจำนวน ๖ รุ่น รวม ๑๘๔ รูป

            นอกจากนั้นยังเปิดดำเนินการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรการบริหารกิจการคณะสงฆ์ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของพระสังฆาธิการในจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ จนถึงปี ๒๕๕๔ มีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรการบริหารกิจการคณะสงฆ์รวมทั้งหมด ๖ รุ่น รวม ๒๔๙ รูป ปัจจุบันปีการศึกษา ๒๕๕๕ มีนักศึกษาทั้งหมด ๒๕ รูป

Untitled-1

 ปณิธาน

          เป็นสถาบันการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับ  พระสังฆาธิการ  พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ในระดับภูมิภาค

 

ปรัชญา

           ส่งเสริมพระพุทธศาสนา พัฒนาการศึกษาสงฆ์ ธำรงวัฒนธรรมท้องถิ่น

วิสัยทัศน์

                   วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาระดับภูมิภาค  โดยจัดการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่  นำไปสู่การพัฒนาจิตใจและสังคมอย่างยั่งยืน

พันธกิจ

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ มุ่งปฏิบัติพันธกิจสำคัญ  ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล  โดยจัดการเรียนการสอนในลักษณะของการนำความรู้ด้านพระพุทธศาสนาบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่  ให้เกิดเป็นองค์ความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาจิตใจและสังคมอย่างยั่งยืน  ซึ่งมีสาระสำคัญ ๓ ด้าน  ดังนี้

                 ๑)  มุ่งเน้นการสร้างบัณฑิตและบุคลากรที่ผ่านการศึกษาอบรมให้เป็นผู้มีคุณธรรมนำความรู้  มีความสามารถและทักษะในการแก้ปัญหา  มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาและพัฒนาสังคม

๒)  มุ่งเสริมสร้างการศึกษา  ค้นคว้าวิจัยให้ก้าวไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนา  เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนามนุษย์  สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและสันติสุข

๓)  มุ่งเน้นการให้บริการทางวิชาการในรูปแบบที่หลากหลาย  มีการบริหารเพื่อพัฒนาพระพุทธศาสนา   พัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน  มีความมุ่งมั่นในการให้การบริการวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนาแก่คณะสงฆ์และสังคม  รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้  และความร่วมมืออันดีระหว่างพุทธศาสนิกชนในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค

 

 เอกลักษณ์วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ

                บริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนาและสนองงานกิจการคณะสงฆ์

 อัตลักษณ์วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ

                สืบสานงานพระศาสนา นำพาพัฒนาจิต อุทิศตนเพื่อสังคม

 อัตลักษณ์บัณฑิต

                มีศรัทธาและตั้งมั่นต่อพระพุทธศาสนา

สีประจำมหาวิทยาลัย

สีชมพู

 ตราประจำมหาวิทยาลัย

เป็นรูปวงกลมครอบธรรมจักรส่วนกลางเป็นพระเกี้ยว เป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ รอบกรอบด้านบนมีอักษรภาษาบาลีว่า ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต รอบกรอบด้านล่างมีอักษรว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สุภาษิต

ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต แปลว่า ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *